วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สารอาหารสำหรับผู้ไม่ออกกำลังกาย



หากคุณเป็นคนที่เพื่อนๆพากันขนานนามว่า คุณเป็นพวก Couch Potato ที่วันๆไม่ทำอะไร เอาแต่นอนอืดดูทีวีอยู่กับบ้าน เผลอๆก็เอาสแน็คที่หาคุณค่าทางอาหารไม่ได้เลย มาเคี้ยวกรุบๆทั้งวัน
รู้หรือไม่ว่าบัดนี้คุณอาจจะเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มเสี่ยงสำหรับพวกโรคอ้วนเกินพิกัด หรือพวกโรคทางหัวใจและหลอดเลือดก็ได้ ในความเป็นจริงผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว อาจนับรวมถึงผู้ที่นอนป่วยนานๆหรือเพิ่งจะฟื้นไข้ หรือคนจำพวกหนอนหนังสือที่วันๆทำอะไรไม่เป็นเลยนอกจากอ่านและอ่านเท่านั้น


เรามีสูตรวิตามินเจ๋งๆ 5 ชนิดที่ออกแบบมาเพื่อที่จะช่วยคุณๆที่เข้าข่ายดังกล่าว เริ่มจาก




1. Omega-3 Fatty Acids พบมากในน้ำมันปลาและน้ำมันเมล็ดลินิน (Flax seed ) ซึ่งจะให้สัดส่วนของกรดไขมันชนิด EPA สูง โดยปริมาณ EPA ที่แนะนำ / วันควรอยู่ในช่วง 250-3,000 mg. และควรระวังซักนิดหากคุณต้องทานยาต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือดอยู่ก่อน ข้อดีสำหรับ Omega-3 คือ การปรับปรุงระบบการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ ระบบประสาท การสืบพันธุ์ และภูมิต้านทานร่างกาย นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางเภสัชวิทยาในการเป็น สารต้านการ clot ของเลือด ช่วยลดระดับไขมันในเลือด สารต้านอักเสบ บำรุงสุขภาพผมผิวและเล็บ และจุดเด่นสำคัญคือการช่วยนำส่ง Oxygen ไปยังเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย ซึ่งสัมพันธ์กับการลดอาการเบื่อและขี้เกียจได้



2. Bioflavonoid ขนาดรับประทาน 50-300 mg./ วัน ร่วมกับการทานวิตามิน C 500-3,000 mg./ วันจะให้ผลในเรื่องความ แข็งแรงของผนังหลอดเลือดฝอย ซึ่งจะช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือดจากการนั่งนานๆ


3. Garlic ซึ่งจะให้สารสำคัญที่เป็นกลิ่นเฉพาะตัวของกระเทียมที่ชื่อ Allicin โดยขนาดที่แนะนำควรอยู่ระหว่าง 600-5,000 mcg./ วัน ซึ่งจะให้ประโยชน์ในแง่ของการลดการเกาะตัวของเลือด ลดความดันเลือด ลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด ต้านการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส และควรระวังซักนิดหากคุณต้องทานยาต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือดอยู่ก่อนแล้ว



4. Folic Acid ขนาดรับประทาน 400-1,000 mcg./ วัน ( หากเป็นสตรีตั้งครรภ์ควรได้รับ 600 mcg. และ 500 mcg. ใน สตรีให้นมบุตร ) ข้อดีของกรดโฟลิก คือการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยปรับความผิดปกติทางอารมณ์ที่ไม่รุนแรงนัก ความรู้สึกซึมเศร้า เบื่อหน่ายซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการขาดการออกกำลังกาย นอกจากนี้หากรับประทานกรดโฟลิกขนาดสูงนานๆ ควรได้รับวิตามิน B12 เพิ่มเติมเนื่องจากกรดโฟลิกสามารถบดบังภาวะการขาด B 12 ในบางรายได้


5. Chromium ขนาด 50-200 mcg./ วัน ในรูป Chromium Picolinate ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดในแง่การดูดซึมและให้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะให้ฤทธิ์ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและปรับปรุงระบบเมตาบอลิซึม ทำให้สามารถลดการอยากอาหารในผู้ที่ชอบทานขนมจุบจิบได้ นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นการทำงานของระบบอินซูลินในร่างกายได้


นอกจากนี้คุณควรจะให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมด้วย โดยอาจจะมีการออกกำลังกายทดแทนบ้าง หรือหางานอดิเรกที่ชื่นชอบ สิ่งเหล่านี้น่าจะมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยน Life style ของคุณที่น่าเบื่อและไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย มาเป็นนักกิจกรรมตัวยงที่มีสุขภาพดีคนหนึ่งเลยทีเดียว





แหล่งข้อมูล: http://www.numwan.com/health/view.asp?GID=23

อาหารขยะ “Junk Food”



ทุกวันนี้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากทำให้วิถีชีวิต และพฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปต้องฝากท้อง กับอาหารสำเร็จรูป และอาหารด่วนซึ่งส่วนใหญ่มาในรูปอาหารตะวันตก ประเภทสะดวก และรวดเร็ว ทำให้ร้านสะดวกซื้อมีเพิ่มมากขึ้น เพราะซื้อหาได้ทั่วไป ถุกปากคนรุ่นหใม่ ใส่บรรจุภัณฑ์ เก๋ไก๋ พกพาสะดวก


คำว่า “Junk Food” เป็นศัพท์แสลงของอาหารที่มีสารอาหารจำกัดหรือที่เรียกว่า “อาหารขยะ” หมายถึง อาหารที่ให้ประโยชน์ทางโภชนาการน้อย และถ้ากินมากหรือกินประจำจะเป็นโทษต่อร่างกาย อาหารขยะส่วนใหญ่ประกอบด้วย น้ำตาล ไขมัน และแป้ง แต่มีส่วนประกอบของโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่น้อยมาก เช่น ลูกอม น้ำอัดลม อาหารจานด่วนบางชนิด ขนมขบเคี้ยว บะหมี่ซอง อาหารกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแป้งที่ขัดสีเอาเส้นใยและวิตามินออกหมด ใช้น้ำตาลที่ผ่านการฟอกขาว แล้วเติมด้วยสารแต่งสี/กลิ่น ผงชูรส ตามด้วยกระบวนการทอด เป็นต้น


การบริโภคอาหารขยะเป็นประจำเป็นสาเหตุให้ร่างกาย ขาดสารอาหาร โปรตีน วิตามินและเกลือแร่ ที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย เสี่ยงต่อภาวะการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไข้อ และโรคอ้วน ซึ่งส่งผลเสี่ยงต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองด้วย เช่นปัญหาด้านความจำของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน หรือคนที่ชอบบริโภคอาหารประเภทไขมันสูง ทำให้มีปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือ Low Density Lipoprotein (LDL) และปริมาณไตรกลีเซอไรด์สูงจากงานวิจัยของ จอห์น มอร์เลย์และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูริ พบว่าในหนูที่กินอาหารไขมันสูง จะมีปริมาณไตรกลีเซอไรด์สูง ซึ่งปริมาณไตรกลีเซอไรด์ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นสาเหตุทำให้เสียความทรงจำ โดยศึกษาทดลองให้หนูกินยาที่มีผลลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ แต่ไม่มีผลให้น้ำหนักตัวลด พบว่าผลทดสอบด้านความจำดีขึ้น

นอกจากนี้อาหารขยะยังเป็นสารก่อภูมิแพ้ (allergen) ที่ถูกมองข้าม เนื่องจากอาหารขยะมีการดัดแปลงและปรุงแต่งโดยมีการใช้สารในกลุ่มสารแต่งสีอาหาร เช่น ทาร์ทราซีน (tartrazine) ให้สีเหลืองส้นอะมาเรนท์ (amaranth) ให้สีแดง เป็นต้น ซึ่งพบได้ในขนมและน้ำอัดลมต่างๆ ที่มีสีสันสดใส กลุ่มสารกันบูด เช่น กรดเบนโซอิก (benzoic acid) โซเดียมเบนโซเอท (sodium benzoate) ซึ่งมักพบในอาหารกึ่งสำเร็จรูปทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่ซอง ขนมกรุบกรอบ กลุ่มสารกันหืน ได้แก่ สารบิวทิลเลตไฮดรอกซีอะนิโซล (butylated hydroxyanisole) ซึ่งมักพบในอาหารประเภททอด ขนมกรุบกรอบ ไอศกรีม มาการีน เป็นต้น กลุ่มสารเพิ่มเนื้อและสารที่ทำให้ข้น เพื่อให้ปริมาณดูมากขึ้น ได้แก่ วุ้น (agar) คาร์ราจีแนน (carrageenan) ซึ่งมักพบในอาหารประเภทไอศกรีม เยลลี ครีมแต่งหน้าเค้ก เนยแข็ง กลุ่มผงชูรส ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดอาการผื่นแดงและอักเสบของผิว สำหรับคนที่มีแนวโน้มผิวแพ้ง่าย สารในกลุ่มเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงแต่งอาหารขยะซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้
กรมวิทยาศาสตร์บริการได้จัดอบรมเกี่ยวกับระบบคุณภาพ GMP และ HACCP ซึ่งเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร หรือ Food Safety อาหารขยะอาจก่อให้เกิดอันตรายทางเคมี ถ้าปริมาณสารบางชนิดในอาหารขยะที่กล่าวถึงข้างต้น ได้แก่ สีผสมอาหาร สารกันบูด มีปริมาณสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดอาจเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้หรือถ้าผู้บริโภครับประทานอาหารขยะในปริมาณมาก ทำให้ปริมาณสารเข้าสู่ร่างกายในปริมาณเกินกว่าร่างกายจะรับได้ อาจมีผลเสียต่อร่างกายได้
แหล่งข้อมูล : http://www.vcharkarn.com/varticle/39132

โรคภูมิแพ้อากาศ



โรคแพ้อากาศ

เป็นโรคแพ้อย่างหนึ่งที่พบมากในบ้านเรา เนื้อหาสั้น ๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบภูมิแพ้ รพ.กรุงเทพครับ
โรคภูมิแพ้อากาศ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ทางการหายใจ
อาการเด่น
คันจมูก คันตา น้ำมูกใส
จามบ่อย ๆ แน่นจมูก
รู้สึกแน่นจมูกเช้า บางครั้งเจ็บคอเช้า ๆ
สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย
ฝุ่น นุ่น ซากแมลงสาบ ละอองเกสรพืช ไรฝุ่นในที่นอนในบ้าน ขนสัตว์ เชื้อราในอากาศ
เชื่อว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ โดยพบว่า ถ้าพ่อแม่เป็น ลูกมีโอกาสที่จะเป็นด้วยถึง 75 %
สิ่งกระตุ้นให้โรคเป็นมาก คือการได้รับสัมผัส การเปลี่ยนแปลงของอากาศ สุขภาพอ่อนแอ ความเครียด
อาการที่พบร่วมบ่อย
อาจพบ หอบหืด ลมพิษ แพ้อาหาร คันตา ตาอักเสบ ร่วมกัน
การดูแลรักษา
1. การดูแลตนเอง
*นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
*ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน
*รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ
*หลีกเลี่ยงความเครียด
*ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรใช้ยาเอง

2. การดูแลสิ่งแวดล้อม
1.1 กำจัดฝุ่นละอองและตัวไรในห้องนอน
*ทำความสะอาดห้องนอนทุกวัน
*จัดห้องนอนให้โล่ง มีเครื่องตกแต่งน้อยชิ้นที่สุด
*หลีกเลี่ยงวัสดุที่ทำจากขนสัตว์ นุ่น
*หลีกเลี่ยงการใช้พรม
*ที่นอน หมอน ควรนำออกตากแดดทุกสัปดาห์
*ผ้าคลุมที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม มุ้ง ผ้าคลุมเตียง ควรทำความสะอาดอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง
*เก็บหนังสือและเสื้อผ้า ในตู้ที่ปิดมิดชิด
*ใช้วัสดุที่เป็นใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ
1.2 กำจัดแหล่งที่อยู่ของแมลงสาบ และแมลงอื่น ๆในบ้าน
1.3 ลดปริมาณละอองเกสรดอกไม้ หญ้า
* หลีกเลี่ยงการนำดอกไม้สด หรือต้นไม้ไว้ในบ้าน
* ตัดหญ้าและวัชพืชออก
1.4 ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดหรือนำสัตว์เลี้ยงมาใว้ในบ้าน
1.5 กำจัดเชื้อรา
* อย่าให้เกิดความชื้นหรืออับทึบ กำจัดแหล่งเชื้อรา เช่น ห้องน้ำ กระถางต้นไม้ ห้องครัว

แหล่งที่มา: http://www.thaihealth.net/h/article289.html

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แอปเปิ้ล ลดคอเลสเตอรอล



แอปเปิ้ลหาซื้อได้ง่าย ราคาก็ไม่แพงนัก แถมสรรพคุณก็มากมายจริงๆ ค่ะ แอปเปิ้ลผลขนาดกลางเพียง 1 ผล ล้างให้สะอาดโดยไม่ปอกเปลือก
มีคุณค่าทางโภชนาการโดยประมาณดังนี้- พลังงาน 80 แคลอรี- วิตามิน บี6 0.1 กรัม- วิตามิน ซี 7.9 มิลลิกรัม- เหล็ก 0.2 มิลลิกรัม- ทองแดง 0.1 มิลลิกรัม- โพแทสเซียม 158.7 มิลลิกรัม แต่ถ้าปอกเปลือกปริมาณสารสำคัญจะลดลง
บทความในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2470 เคยยกย่องว่า แอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยภาวะเลือดเป็นกรดไขข้อรูมาติกเกาต์ ดีซ่าน และอื่นๆ แอปเปิ้ลมีสารสำคัญบางตัว เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินซี และเส้นใยไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ที่ชื่อว่า เพคติน และยังมีกรด 2 ชนิด คือกรดมาลิคและกรดทาร์ทาริก ซึ่งช่วยในการย่อยอาหารจำพวกโปรตีนและไขมันปัจจุบันมีการกล่าวอ้างสรรพคุณของแอปเปิ้ลมากมาย เช่น บำรุงหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล ลดความดัน ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดลดความอยากอาหาร ช่วยกระตุ้นการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระ และฆ่าเชื้อไวรัส เป็นต้นแอปเปิ้ลช่วยควบคุมน้ำหนักหากคุณรู้สึกหิวในเวลาที่มิใช่มื้ออาหาร แอปเปิ้ลสักลูกช่วยลดความหิวได้ดีค่ะ เพราะแอปเปิ้ลมีแป้งและน้ำตาลถึง 75% ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่ร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเวลาไม่เกิน 10 นาที ดังนั้นความอยากอาหารจึงลดลง ทำให้ไม่รู้สึกหงุดหงิด อ่อนเพลียระหว่างเวลาอาหารมื้อใหญ่ๆ ประโยชน์ของแอปเปิ้ลข้อนี้ สาวๆ สามารถนำไปเป็นเทคนิคควบคุมน้ำหนักอย่างง่ายๆ เวลาที่ต้องไปงานเลี้ยง คือเมื่อเริ่มตักอาหาร ให้ตักผลไม้ก่อน เลือกแอปเปิ้ล ส้ม หรือผลไม้ที่มีกากใยมากๆ รับประทานรองท้องแทนอาหารออเดิร์ฟ ในเวลาไม่เกิน 10 นาที น้ำตาลผลไม้โมเลกุลเดี่ยวจะถูกดูดซึม ทำให้ความอยากอาหารลดลง คุณจึงรับประทานอาหารคาวได้น้อยลง แต่รู้สึกอิ่มได้ดีกว่าอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาลอื่นๆ จากการทดลองพบว่า แอปเปิ้ลผลสดๆ เท่านั้นที่มีสรรพคุณเช่นนี้ การดื่มน้ำแอปเปิ้ลไม่ทำให้คุณหายหิว แถมจะทำให้น้ำหนักของคุณเพิ่มขึ้นด้วยแอปเปิ้ลช่วยลดคอเลสเตอรอลแอปเปิ้ล 2-3 ผลต่อวัน ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่พบว่า แอปเปิ้ลลดคอเลสเตอรอลในผู้หญิงได้ดีกว่าผู้ชาย นักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศ เช่น อิตาลี ไอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ได้รายงานผลการวิจัยตรงกันว่า แอปเปิ้ลมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลได้คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยพอลซาบาทิเอร์ เมืองตูลูส พบว่า แอปเปิ้ลช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ในหนูทดลอง ต่อมาได้มีการทดลองในอาสาสมัครวัยกลางคน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จำนวน 30 คน โดยให้รับประทานอาหารเหมือนเดิมทุกประการ แต่รับประทานแอปเปิ้ลร่วมด้วยวันละ 3 ผลทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าอาสาสมัครจำนวน 24 คนมีปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง บางคนลดลงมากกว่า 10%แอปเปิ้ลมีสารเพคตินซึ่งเป็นไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ การวิจัยบ่งชี้ว่า เมื่อกรดในทางเดินอาหารย่อยสลายไขมัน แยกคอเลสเตอรอลออกมาแล้ว เพคตินจากแอปเปิ้ลจะไปคอยดักจับคอเลสเตอรอลเหล่านั้น และนำไปทิ้งก่อนที่จะถูกดูดกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งแอปเปิ้ลช่วยลดน้ำตาลในเลือดแอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือด เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป อาหารแต่ละชนิดจะถูกย่อยสลายและดูดซึมผ่านผนังกระเพาะลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดจะเพิ่มช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของอาหารนั้นๆ เช่น ถ้ารับประทานน้ำผึ้ง น้ำตาลในเลือดจะขึ้นฮวบฮาบทันที แต่สำหรับแอปเปิ้ล ถึงแม้จะมีน้ำตาลธรรมชาติในเนื้อแอปเปิ้ลมาก แต่ก็ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เท่านั้น เช่นเดียวกับอาหารจำพวกถั่วนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า คนที่รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์มากๆ จะมีโอกาสเกิดเบาหวานต่ำกว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์น้อย และสำหรับคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว ไฟเบอร์จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย แอปเปิ้ลมีไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำสูงมาก จึงเหมาะสำหรับคนที่เป็นเบาหวานผลการทดลองยังพบด้วยว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์มาก จะเกิดอาการความดันโลหิตสูงได้ยากกว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์น้อยอย่างไรก็ตาม แอปเปิ้ลไม่ใช่ยารักษาโรค แต่หากคุณกำลังมองหาอาหารที่มากด้วยคุณค่าแล้วล่ะก็ อย่าลืมนึกถึงแอปเปิ้ลแอปเปิลเป็นผลไม้ยอดนิยมชนิดหนึ่งที่มีผู้บริโภคกันอย่างแพร่หลายที่สุดในโลก แอปเปิลในยุคแรกๆ คือ แอปเปิลป่า เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองของเกาะอังกฤษ ซึ่งถูกนำเข้ามาในอังกฤษครั้งแรกในสมัยโรมัน ปัจจุบันมีแอปเปิลอยู่ประมาณ 7,500 สายพันธุ์ที่ปลูกกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ว่ากันว่าสายพันธุ์ที่มีรสชาติอร่อยที่สุดนั้นเพาะปลูกกันมากในสหรัฐอเมริกา แอปเปิลเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร แอปเปิ้ล 1 ผล มีเส้นใยอาหารประมาณ 5 กรัม จึงมีสรรพคุณในการช่วยขับพิษอ่อนๆ ในร่างกายสูตรการล้างพิษง่ายๆ ก็คือ นำแอปเปิลมาปั่นรวมกับแครอท ในอัตราส่วน 1 ต่อ 4 รับประทานช่วยขับพิษในร่างกายแอปเปิลยังเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เนื่องจากรับประทานแล้วไม่อ้วน แถมยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุผลไม้ในตระกูลเดียวกับแอปเปิล คือแพร์และสาลี่ ก็มีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกัน แต่เนื่องจากแพร์และสาลี่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่าแอปเปิลจึงมีสรรพคุณในการดับกระหายและทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ ละลายเสมหะ ฤทธิ์เย็นของแพร์และสาลี่ยังช่วยลดความร้อนในร่างกาย และช่วยบรรเทาอาการของโรคหลอดลมอักเสบ สามารถรับประทานได้ทั้งผลสด หรือจะนำเนื้อมาบดให้ละเอียดแล้วต้มกับน้ำตาลทราย ผสมด้วยน้ำผึ้งเล็กน้อย ก็จะได้ของหวานที่นอกจากจะอร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณช่วยให้ชุ่มคอและแก้อาการไอแห้งแบบเรื้อรังได้อีกด้วยนอกจากประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว การรับประทานแอปเปิลเป็นประจำ ยังช่วยป้องกันและบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บได้หลายประการ เนื่องจากแอปเปิลมีวิตามินซีและเบต้าแคโรทีนมาก ดังนั้นจึงช่วยป้องกันโรคหวัด และโรคเลือดออกตามไรฟันได้แอปเปิ้ลยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น จึงช่วยได้ทั้งอาการท้องผูกและท้องเสีย ผู้ที่มีอาการท้องผูก แอปเปิลช่วยระบายได้ ส่วนผู้ที่มีอาการท้องเสียนิดหน่อย รับประทานแอปเปิลสับละเอียดติดต่อกัน 2 วัน อาการท้องเสียจะค่อยๆ หายไปมีรายงานด้วยว่าการรับประทานแอปเปิลโดยไม่ปอกเปลือก จะช่วยลดอาการปวดท้องจากเชื้อโรคบิดได้นอกจากนี้หากรับประทานแอปเปิลมื้อละ 1 ผล เป็นประจำ จะช่วยขับเกลือที่มีมากเกินไปออกจากร่างกาย ทำให้ความดันโลหิตค่อยๆ ลดลง เหมาะสำหรับผู้ที่ความดันโลหิตสูงในตำราแพทย์แผนโบราณก็ได้กล่าวถึงสรรพคุณของแอปเปิลไว้เช่นกัน ได้แก่ใบ ใช้ต้มกินรักษาเลือดคั่งค้างหลังคลอด รักษาอาการไข้ ขับน้ำคาวปลา รักษาแผลจากไฟผล รักษาอาการท้องผูกเป็นประจำ นอนไม่ค่อยหลับ โรคเกี่ยวกับไต บำรุงร่างกายทารก บำรุงปอด


ขอบคุณเนื้อหาจาก http://ornnami.exteen.com/20090306/entry-2

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Live Younger Longer

Live Younger Longer


เคล็ดลับง่ายๆสำหรับการมีสุขภาพที่ดี นอกจากจะต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว อย่าลืมทานผักและผลไม้ให้ครบ 5 สี เพราะผักและผลไม้แต่ละสีล้วนมีคุณค่าต่อร่างกายแตกต่างกัน

ผักและผลไม้ สีขาวหรือสีน้ำตาล เป็นผักและผลไม้ที่มีสารกลุ่มอะซิติน และธาตุซิลิเนียม ที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ทั้งยังมีคุณสมบัติในการช่วยย่อยอาหารได้ดี มีให้เลือกทานหลายประเภทมาก ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี หอมหัวใหญ่ ผักกาดขาว น้อยหน่า หรือ มะพร้าว

ผักและผลไม้ สีแดง มีสารดีดีในกลุ่มไลโคพีน แอนโธไซยานิน ช่วยบำรุงหัวใจ เสริมสร้างความจำ รักษาระบบทางเดินปัสสาวะ และลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด ผักและผลไม้สีแดงมีให้เลือกทานหลายชนิด ทั้งมะเขือเทศ องุ่นแดง แตงโม เชอร์รี่ แต่ที่ขอเน้นเป็นพิเศษก็คือแอปเปิ้ล เพราะในแอปเปิ้ลจะมีสารพิเศษชื่อ เพคติน ซ่งมีคุณสมบัติช่วยลดความหิวได้

ผักและผลไม้ สีเขียว มีสารกลุ่มลูเทอินและอินดอลมาก โดยผักในกลุ่มจะให้วิตามินซีที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และผนังเซลล์ให้แข็งแรงมากขึ้นรวมถึงยังป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันอีกด้วย นอกจากนี้แล้วสำหรับผักใบเขียวเข้ม ยังมีธาตุเหล็กและแคลเซียม ที่ช่วยสร้างกระดูกและฟัน โดยผักและผลไม้หาทานได้ง่ายเช่น ตำลึง ผักบุ้ง ผักหวาน คะน้า กวางตุ้ง บรอกโคลี ผักโขม ถั่วพู อีกทั้งยังเคยมีงานวิจัยทอสอบออกมาว่าแคทานผักสีเขียววันละนิดผิวพรรณจะอ่อนเยาว์ลงสิบวัน

ผักและผลไม้ สีเหลืองและส้ม สีเหลืองและส้มจะมีสารแคโรทีนอยด์และไบโอฟลาโวนอยด์มาก มีคุณสมบัติในการช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงสายตา เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค และลดอัตราเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด แถมพริกยักษ์หรือพริกเหลืองยังมมีความพิเศษที่มากกว่าทำให้ร่างกายแข็งแรง เพราะจะประกอบไปด้วยสารเบต้าแคโรทีนที่มีคุณสมบัติช่วยควบคุมการเพิ่มออกซิเจนของสารต่างๆ ในร่างกายส่งผลให้ชะลอความแก่ รวมถึงเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกายได้อย่างเห็นผล

ผักและผลไม้ สีดำ น้ำเงิน หรือม่วง องุ่นแดง กะหล่ำม่วง บลูเบอร์รี่ เผือก ชมพู่ม่าเหมี่ยว หรือลูกพรุน จะมีสารกลุ่มแอนโธไซซยานินและโฟโนลิกเป็นส่วนประกอบ ซึ่งช่วยป้องกันสารอันตรายไม่ให้สะสมในเลือด ทำให้เกิดกลไกป้องกันการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดแตกในสมอง

และก่อนทานผักและผลไม้ ทุกครั้งควรล้างน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง เพื่อเป็นการชำระฝุ่นหรือสารเคมีที่ติดอยู่ออกให้หมด



ขอบคุณเนื้อหาจาก Aviance Beauty Solutions Magazine / May 2009

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552

อาหาร...ยาวิเศษเพิ่มพลังสมอง


สมอง ” ... กองบัญชาการของร่างกาย

“ สมอง ” เป็นอวัยวะที่มีโครงสร้างซับซ้อน ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายในแทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว ระบบประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การได้ยิน การมองเห็น การรับรู้กลิ่นและรส เป็นต้น นอกจากนี้สมองยังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก การเรียนรู้ และความจำ สมองประกอบด้วยเซลล์ประสาท (neuron) จำนวนมากกว่าแสนล้านเซลล์ที่มีแขนงประสาท (neuronal processes) งอกออกมา ประสานกันเป็นร่างแหเพื่อใช้ในการติดต่อและส่งสัญญาณประสาท โดยมีอัตราความเร็วของการส่งสัญญาณตั้งแต่ 0.5-120 เมตร/วินาที เชื่อว่าเซลล์ประสาทจะมีจำนวนคงที่เมื่อแรกคลอด แต่การงอกของแขนงประสาทจะเพิ่มขึ้นได้หลังจากมีการกระตุ้นจากการเรียนรู้และได้รับสารอาหารที่เหมาะสม ทำให้สามารถส่งสัญญาณประสาทได้เร็วขึ้น และมีการติดต่อประสานงานที่ต่อเนื่องครอบคลุม สมองจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นปัจจัยที่บ่งบอกถึงความฉลาดและสติปัญญาได้

“ สารสื่อประสาท ” ปัจจัยที่ช่วยการทำงานของสมอง

เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย สมองต้องการสารอาหารเพื่อเป็นพลังงานและใช้ในการทำงาน การติดต่อกันระหว่างเซลล์สมองยังต้องการสารเคมีที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (neurotransmitter) อย่างน้อย 3 ชนิด ที่จะทำให้การส่งข้อมูลของสมองเป็นไปอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ สารสื่อประสาทเหล่านี้สร้างมาจากสารอาหารต่างๆ ที่รับประทาน โดยมีวิตามินและแร่ธาตุช่วยในกระบวนการ...ได้แก่

อะซิทิลโคลีน (Acetylcholine) ทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์ประสาท ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และมีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับการสร้างความจำด้วย โดยพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) จะมีอะซิทิลโคลีนในสมองน้อยกว่าคนปกติ อะซิทิลโคลีนมีมากในอาหาร จำพวกไข่แดง ถั่ว ข้าวไม่ขัดสี ตับ เนื้อสัตว์ต่างๆ ปลา นม เนยแข็ง และผักโดยเฉพาะ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี เป็นต้น

โดปามีน (Dopamine) เกี่ยวข้องกับสมาธิ ความสนใจ และการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็มีผลต่อความรู้สึกตื่นตัว โดยจะเห็นได้จากผู้ที่เป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) จะมีโดปามีนในสมองมากกว่าคนปกติ โดปามีนมีมากในอาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนทุกชนิด เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ผลิตภัณฑ์จากนม ปลา ถั่วต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนประมาณ 60-80 กรัม จะช่วยให้ตื่นตัว และมีพลังได้

ซีโรโตนิน (Serotonin) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก และควบคุมวงจรการนอนหลับ โดยซีโรโตนินจะทำงานเฉพาะในบริเวณสมองส่วนกลาง (brain rewards system) เมื่อเกิดความรู้สึกพอใจ พบว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีระดับของซีโรโตนินในสมองบริเวณนี้น้อยกว่าปกติ สารอาหารคาร์โบไฮเดรตจำพวกแป้งและน้ำตาล เช่น ข้าว พาสต้า ผักประเภทหัว ธัญพืช และขนมปัง จะช่วยเพิ่มการดูดซึมทริปโตแฟน (tryptophan) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นซีโรโตนินในสมอง โดยพบว่าภายใน 30 นาทีหลังรับประทานอาหารประเภทดังกล่าวจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสงบได้นานหลายชั่วโมง

สมองและความจำดี ..... เริ่มต้นที่ “ อาหาร ” สมองต้องการสารอาหารอย่างครบถ้วนเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการจดจำข้อมูลต่างๆ เด็กที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโตแล้ว ในระยะเริ่มแรกเด็กจะขาดสมาธิ และเลี้ยงยาก ต่อมาในระยะยาวจะทำให้พัฒนาการทางด้านสติปัญญาช้ากว่าเด็กปกติ หรืออาจปัญญาอ่อนได้ ขึ้นกับความรุนแรงของการขาดสารอาหาร สมองต้องการอาหารดังนี้...

เนื้อสัตว์ เป็นแหล่งของโปรตีนที่เป็นโครงสร้างของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งสมอง นอกจากนี้ยังใช้ในการสร้างสารสื่อประสาทที่ช่วยในการทำงานของสมอง มีกรดอะมิโน 2 ชนิดในเนื้อสัตว์ที่มีผลต่อการสร้างสารสื่อประสาท คือ ทริปโตแฟน ( tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็น เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร เพื่อนำไปสร้างสารสื่อประสาทซีโรโตนิน และไทโรซีน (tyrosine) ที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นมาเองได้ โดยจะนำไปใช้ในการสร้างสารสื่อประสาทโดปามีน

อาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูง มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ และมีไทโรซีนสูง เช่น อาหารทะเล ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ และนม จะช่วยให้สมองมีพลัง กระฉับกระเฉง ตื่นตัว จึงเหมาะสำหรับเป็นอาหารในช่วงเช้า และกลางวัน ส่วนอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูง มีโปรตีนต่ำ และมีทริปโตแฟนสูง เช่น ข้าว ถั่วเล็ดแห้งต่างๆ งา และขนมหวาน จะช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและอารมณ์ดี จึงเหมาะสำหรับเป็นอาหารในมื้อเย็น ที่ร่างกายต้องการพักผ่อนนอนหลับอย่างสุขสงบ

แป้งและน้ำตาล เมื่อถูกย่อยจะได้กลูโคสที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของสมอง จึงควรพยายามรักษาระดับน้ำตาลในร่างกายให้คงที่ เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงมากเกินไปจะมีผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้ระดับของสารสื่อประสาทไม่สมดุล ซึ่งจะทำให้เกิดอาการมึนหัว ง่วงนอน สับสน และอาจถึงกับเป็นลม ชัก หมดสติได้ แหล่งของแป้งและน้ำตาลควรมาจากข้าว ธัญพืชชนิดต่างๆ

ผักและผลไม้ ที่มีกากใยมากกว่าขนมหวานเพราะมีส่วนประกอบของน้ำตาลสูง เนื่องจากใยอาหารจะช่วยในการดูดซึมน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงเร็วเกินไป สำหรับอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบมาก หลังจากรับประทานจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะหลั่งอินซูลินออกมามากเพื่อรักษาระดับน้ำตาล และอาจทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว จนมีผลกับการทำงานของสมองได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน จึงไม่ควรให้ลูกรับประทานขนมหวานมากเกินไป เพราะจะมีผลต่อสมาธิในการเรียน ความจำ และการทำงานของสมอง โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะงอแงและเลี้ยงยาก

ไขมัน ส่วนประกอบของสมองมากกว่าร้อยละ 60 เป็นไขมันที่หุ้มเส้นใยประสาท ทำให้เพิ่มความเร็วในการขนส่งกระแสประสาทในสมอง และช่วยเพิ่มความจำด้วย กรดไขมันโอเมก้า- 3 ที่ประกอบด้วย EPA (eicosapentaenoic acid) และ DHA (docosahexaenoic acid) มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยพบว่าผู้ที่ได้รับกรดไขมันโอเมก้า- 3 ไม่เพียงพอจะทำให้มีอาการซึมเศร้า ความจำและความสามารถในการเรียนรู้ลดลง IQ ต่ำ และอาจมีอาการทางจิตอื่นๆ ในทารกและเด็กที่กำลังเจริญเติบโตจะทำให้สมองมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ โดยมีขนาดเล็ก และมีผลต่อการมองเห็น กรดไขมันโอเมก้า- 3 มีมากในปลาทะเลทุกชนิด เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล เป็นต้น


ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีองค์ประกอบของไขมันที่ผ่านกระบวนการมาแล้ว (hydrogenated) เนื่องจากไขมันดังกล่าวได้มีการปรับโครงสร้าง เมื่อเข้าสู่สมองจะมีผลกระทบต่อการทำงาน และการส่งกระแสประสาทของเซลล์สมอง นอกจากนี้ไขมันที่ผ่านกระบวนการนี้ยังมีลักษณะเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกาะและอุดตันเส้นเลือดได้ โดยหากไปอุดตันเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะทำให้สมองบริเวณนั้นตาย และเป็นอันตรายถึงชีวิต

ผักและผลไม้ อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง โดยวิตามินบี ชนิดต่างๆ จะช่วยในกระบวนการสร้างพลังงาน วิตามินเอ ซี และอี จะมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของสมองต่อสารต่างๆ ที่เป็นมลพิษ โซเดียม โปแทสเซียม และแคลเซียมช่วยในการส่งสัญญาณประสาทและกระบวนการเก็บความจำ เหล็กมีผลต่อสมาธิและการเรียนรู้ พบว่าเด็กที่ได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอจะมีผลการเรียนที่ดี และสนใจอยู่กับบทเรียนได้นานขึ้น

อาหารกับโรคสมองเสื่อม (Alzheimer's disease)

ถึงแม้ว่าโรคสมองเสื่อมจะยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ในปัจจุบัน แต่สามารถป้องกันหรือชะลอสภาวะการทำงานของสมองไม่ให้เสื่อมลงไปกว่าเดิมได้ โดยวิธีที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ การหลีกเลี่ยงจากมลพิษ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง มีงานวิจัยมากมายพบว่าโรคสมองเสื่อมสามารถป้องกันได้ด้วยอาหารหลายชนิด เช่น ผักและผลไม้ที่มีวิตามินอี วิตามินซี ซึ่งมีอยู่มากในผักและผลไม้จำพวกมะเขือเทศ แครอท และ ผักขม ด้วยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในอาหารเหล่านี้ ทำให้ช่วยป้องกันเซลล์สมองจากการถูกทำลายด้วยสารอนุมูลอิสระ (free radicals) นอกจากนี้แล้ว DHA ที่มีในไขมันจากปลาทะเล ก็ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับโครงสร้างของเซลล์สมองได้


แหล่งเนื้อหาข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday



การกินอย่างมีความรู้…ต้านโรคได้


การกิน ไม่ใช่กินอย่างไรให้อร่อย แต่เน้นเรื่อง “ กินดี ” เพื่อต้านโรค เพราะเล็งเห็นว่าคนยุคนี้มีโรคภัยมากมายเกาะกุมรุมเร้าอันมีสาเหตุมาจากอาหารการกิน ผู้ใหญ่และวัยรุ่นยุคนี้คุ้นเคยกับอาหารจานด่วนมากกว่าน้ำพริกผักจิ้ม ส่วนเด็กยุคใหม่เรียกได้ว่าโตมาจากนมผงและอาหารจานด่วน แถมดูอ้วนท้วนสมบูรณ์แก้มกลมแสนน่ารัก แต่อนาคตทำนายได้ยากว่าจะรอดพ้นจากภัย โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดตีบ โรคมะเร็งได้แค่ไหน

แล้วอาหารมีผลอย่างไรที่ทำให้เกิดโรคได้ ?
เมื่ออาหารเข้าสู่ร่างกายของเราแล้วจะถูกย่อยเป็นโครงสร้างเล็กๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเผาผลาญ หรือเมตาบอลิซึม ที่ทำให้เซลล์เล็กๆ ในร่างกายสามารถนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์และเป็นพลังงาน แต่เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารในสัดส่วนที่ไม่สมดุลเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ทำให้มีแนวโน้มของการได้รับสารอาหารบางประเภทมากเกิน โดยเฉพาะแป้ง น้ำตาล และไขมัน ยกตัวอย่างเช่น แป้ง น้ำตาล ที่มักพบในอาหารจานด่วนและขนมต่างๆ เมื่อได้รับมากเกินไปจะทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และเมื่อมีปริมาณไม่เพียงพอ จะนำไปสู่การเป็นเบาหวานได้ นอกจากนี้แป้งและน้ำตาลที่เหลือใช้จะเปลี่ยนเป็นไขมันและสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งเมื่อเกิดการสะสมมากขึ้น ระบบการทำงานของร่างกายจะเริ่มแปรปรวนและทำงานบกพร่องจนนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น ไขมันที่ไปเกาะอยู่ตามหลอดเลือดจะทำให้หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น ปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด จนอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง

การป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไข การกินดี เพื่อต้านโรค ”
จึงต้องเริ่มจากการเลือกอาหารในแต่ละวันให้มีสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม ลดและเลี่ยงอาหารบางชนิด โดยมีหัวใจหลักดังนี้
เลือกกินอาหารที่หลากหลาย เนื่องจากอาหารแต่ละชนิดจะมีองค์ประกอบของสารอาหารไม่เหมือนกัน โดยจะมีปริมาณที่แตกต่างออกไปตามหมวดหมู่ของอาหาร เช่น ส้มจะเป็นแหล่งของวิตามินซี แต่มีวิตามินบี 12 อยู่น้อย ในขณะที่ชีสจะมีปริมาณของวิตามินบี 12 อยู่มากกว่า การกินอาหารชนิดเดียวกันทุกๆ วันจะทำให้ร่างกายได้สารอาหารที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่กินมังสวิรัติมีแนวโน้มที่จะขาดโปรตีน วิตามินบี แคลเซียม และธาตุเหล็กได้ง่าย จึงอาจจำเป็นต้องรับประทาน วิตามิน หรืออาหารเสริม ในหนึ่งวันจึงควรเลือกอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ ธัญพืช ผัก ผลไม้ นม เนื้อสัตว์ และถั่วตามปริมาณที่เหมาะสมกับแต่ละคน

คุมปริมาณพลังงานและสัดส่วนสารอาหารในแต่ละวันคุณควรเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ให้พลังงานต่ำ การหมั่นสังเกตฉลากแสดงปริมาณสารอาหารที่เป็นองค์ประกอบ ในอาหารนั้นๆ จะทำให้เข้าใจและสามารถกำหนดสัดส่วนการกินใน แต่ละมื้อได้ดีขึ้น โดยเฉลี่ยพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน 50% ควรมาจาก กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ซึ่งควรเน้นอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าว และธัญพืชต่างๆ อาหารกลุ่มโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ และถั่วต่างๆ ควรได้รับประมาณ 15% ส่วนที่เหลือ 35% มาจากไขมันชนิดดี หรือไขมันที่ไม่อิ่มตัว
กินธัญพืช ผัก และผลไม้ เป็นหลักอาหารจำพวกธัญพืช ผัก และผลไม้ นอกจากจะเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีคุณค่าแล้ว ยังเป็นกลุ่มของอาหารที่มีไขมันต่ำมาก ทำให้อิ่มนานเพราะมีใยอาหารปริมาณสูง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ใยอาหารซึ่งมีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดีจะช่วยในการขับถ่ายและดูดซึมสารพิษในลำไส้ โดยขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ จึงช่วยป้องกันการสะสมของสารพิษ และลดอาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร และลดอัตราเสี่ยงของมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ได้
เลือกกินแต่ไขมันชั้นดี
ไขมันไม่ได้มีโทษไปเสียทุกชนิด ร่างกายยังต้องการไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงาน สร้างความอบอุ่น ช่วยในการทำงานของสมอง และเป็นองค์ประกอบของฮอร์โมนต่างๆ รวมทั้งช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค ไขมันที่ดีคือไขมันที่ไม่อิ่มตัว มีมากในน้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมัน-ข้าวโพด น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย และปลาทะเล ฯลฯ ส่วนไขมันชนิดเลวคือไขมันอิ่มตัวจะทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในร่างกาย เพิ่มขึ้น อาจสะสมอุดตันในเส้นเลือด น้ำมันชนิดนี้มักพบในกะทิ น้ำมัน-มะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไขมันจากสัตว์ และนม แต่ในเมื่อนมเป็นอาหารที่มีประโยชน์สูง คุณอาจเปลี่ยนมาดื่มนมไขมันต่ำแทนก็ได้ ลดน้ำตาลลง
อาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตซึ่งได้แก่แป้งและน้ำตาล เมื่อเข้าสู่ร่างกายและผ่านกระบวนการย่อยจะได้กลูโคส ซึ่งก็คือน้ำตาลชนิดหนึ่ง กลูโคสเป็นสารที่ให้พลังงานกับร่างกาย ในขณะเดียวกันหากมีมาก เกินไปจะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสม จึงไม่เป็นผลดีต่อผู้ที่ต้องการ ควบคุมน้ำหนักตัว นอกจากนี้การมีน้ำตาลอยู่ในร่างกายปริมาณสูงจะ ทำให้การสร้างอินซูลินที่ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดเสียสมดุลไป เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงขนมหวานหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน การเลือกกินข้าวกล้องที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะทำให้ร่างกายค่อยๆ สลายกลูโคสออกมาอย่างช้าๆ จะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้
เลี่ยงรสเค็มอาหารส่วนใหญ่มีเกลือโซเดียมเป็นองค์ประกอบในปริมาณสูง มีอยู่ในอาหารทั่วไปเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นซอสปรุงรส น้ำปลา ขนมกรุบกรอบ อาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูป และอาหารที่มีรสเค็มทุกชนิด จึงเป็นไปได้ว่าเรามักจะได้รับโซเดียมเกินความต้องการของ ร่างกาย แม้ว่าโซเดียมจะมีประโยชน์ช่วยควบคุมปริมาณน้ำและความดัน-เลือดในร่างกาย แต่การได้รับโซเดียมมากเกินไปจะก่อให้เกิดโรคความดัน-โลหิตสูงได้ โดยในผู้ใหญ่แนะนำว่าควรได้รับประมาณวันละไม่เกิน 1,100-3,300 มิลลิกรัม

ระวังภัย 7 โรคร้าย …ด้วยการกินให้ถูกวิธี

ถ้าคุณเป็นคนกินไม่เลือก ตามใจลิ้นอยู่ร่ำไป เมื่อร่างกายที่อยู่ในภาวะโภชนาการไม่ดีไปนานๆ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ ขึ้นตามมาได้ ซึ่งโรคหลักๆ จากอาหารมีอยู่ไม่มากตามที่เกริ่นไว้แต่ต้น ดังนั้นถ้าสายเสียแล้วที่จะแก้ไข การเลือกวิธีโภชนบำบัด (diet therapy) ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย เพื่อให้การรักษาได้ผลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ร่วมไปกับการรักษาทางการแพทย์

เป็นเบาหวานต้องคุมน้ำตาล
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เซลล์ต่างๆ ทำงานได้น้อยลง รวมทั้งเกิดความผิดปกติในการเผาผลาญสารอาหารด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก เบาหวานสามารถควบคุมได้ด้วยการควบคุมอาหาร ซึ่งสำคัญมากกว่าการรักษาด้วยยา ควรงดเว้นอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล ทุกชนิด จำกัดปริมาณผลไม้ และธัญพืชต่างๆ รวมทั้งข้าว เพราะจะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด รับประทานผักประเภทใบที่มีใยอาหารสูงให้มากขึ้นในปริมาณไม่จำกัด เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ส่วนอาหารจำพวกโปรตีนยังสามารถกินได้ปกติ แต่ควรระมัดระวังเรื่องน้ำหนักตัว เพราะจะส่งผลโดยตรงกับอาการของเบาหวานการคุมอาหารควรทำไปพร้อมไปกับการควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
อาหารกับโรคหลอดเลือดแข็งและโคเลสเตอรอลภาวะไขมันในเลือดสูงจะมีผลให้ไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือดจนขาดความยืดหยุ่นและ อุดตันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ถ้าเกิดการอุดตันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ไขมันที่พบว่าเกิดการสะสม คือ โคเลสเตอรอล เพื่อความปลอดภัยองค์การอนามัยโลกได้เสนอให้ควบคุมปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดให้ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร เมื่อโคเลสเตอรอลได้จากอาหาร การควบคุมโดยลดการกินไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์ ไข่แดง นม น้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เพิ่มปริมาณอาหารที่มีใยอาหารให้มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวโอ๊ต เพราะใยอาหารจะจับกับ โคเลสเตอรอลในลำไส้เล็กทำให้ถูกดูดซึมได้น้อย และจะถูกขับออกมาทางอุจจาระ นอกจากนี้ แหล่งไขมันที่ควรได้รับในแต่ละวันควรมาจากไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว อย่างน้อย 10-12% ของพลังงานทั้งหมด

ควบคุมสัดส่วนอาหารต้านโรคอ้วน
น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเกิดจากร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ จึงเกิดการสะสมในรูปของไขมัน จนอาจทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติและเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ข้ออักเสบ และระบบทางเดินหายใจ การรักษาจะต้องเริ่มจากสาเหตุ คือควบคุมปริมาณการกินอาหารให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม และออกกำลังกายให้มากขึ้น ในส่วนของอาหารนั้นจำเป็นต้องกินอาหารให้ครบทุกมื้อ แต่ลดพลังงานลงวันละ 500 แคลอรี จะสามารถ ลดน้ำหนักลงได้สัปดาห์ละ 1/2 กิโลกรัม เช่น เปลี่ยนจากกินข้าวมาเป็นผักที่มีใยอาหารสูงเพื่อให้อิ่มนานขึ้น งดอาหารที่มีไขมันมาก เช่น เนื้อติดมัน อาหารทอด และงดอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารทุกมื้อควรมีปริมาณโปรตีนที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ เช่น ถั่วชนิดต่างๆ แทนที่จะเป็นเนื้อสัตว์ที่มักจะมีไขมันสูง

โปรตีนต่ำเพื่อพยุงโรคไต
ไต ทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย แต่ส่วนใหญ่จากการเผาผลาญของโปรตีน ดังนั้นอาหารที่ทำให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้นในการขับถ่ายของเสีย คือ โปรตีน โรคเกี่ยวกับไตมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่โดยสรุปก็คือทำให้ไตไม่สามารถทำหน้าที่อย่างปกติได้ หลักสำคัญในการรักษาด้วยอาหารคือช่วยให้ไตทำงานน้อยลง เพื่อให้ไตได้มีโอกาสพักหรือฟื้นตัว และลดการคั่งของของเสีย อาหารที่รับประทานควรจะมีปริมาณโปรตีนน้อย แต่เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ เพื่อนำไปช่วยเสริมสร้างทดแทนเนื้อเยื่อต่างๆ ที่สูญเสียไป แต่สำหรับผู้ที่เป็นไตวายเรื้อรังจะมีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง จำเป็นต้องงดโปรตีนที่มาจากนม ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ และไข่ เพราะเป็นอาหารที่มีปริมาณฟอสเฟตสูง เมื่อจำกัดปริมาณโปรตีนในอาหารแล้ว พลังงานส่วนใหญ่ที่ได้รับจึงมาจากน้ำตาล ไขมัน และแป้งที่มีโปรตีนน้อย เช่น วุ้นเส้น แป้งมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง วุ้น ลูกชิด สาคู เป็นต้น รวมทั้งจำกัดการได้รับโซเดียม โดยหลีกเลี่ยงสารปรุงรสที่มีเกลือโซเดียมเป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น

โรคความดันโลหิตสูงต้องระวังเกลือ
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากแรงดันภายในหลอดเลือดแดงสูงตลอดเวลา โดยแรงดันค่าสูงสุด (systolic blood pressure) และแรงดันค่าต่ำสุด (diastolic blood pressure) มีค่าสูงกว่า 160/95 โรคความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมามากมาย คือหลอดเลือดแดง ไม่แข็งแรง เลือดไปเลี้ยงไม่สะดวก โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นในบริเวณอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ไต หรือจอตา ก็จะส่งผลให้เกิดอันตรายหรือถึงแก่ชีวิตได้ หลักการรักษาโรคความดันโลหิตสูงคือการควบคุมอาหาร การลดน้ำหนักลงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงความเครียด การดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ อาหารที่ควรจำกัดคืออาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมอยู่มาก เพราะโซเดียมที่อยู่ในเกลือจะทำหน้าที่ในการควบคุมสมดุลแรงดันของผนังเซลล์ และปริมาณน้ำในร่างกาย อาหารที่มีเกลือโซเดียมมาก ได้แก่ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่างๆ อาหารทะเล และยาบางชนิด นอกจากนี้ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันมาก เพราะจะทำให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ยาก โดยน้ำหนักที่เกินมาตรฐานจะทำให้หัวใจ ทำงานหนักมากขึ้นด้วย


โรคเกาต์กับกรดยูริคโรคเกาต์
เกิดจากการที่ร่างกายมีระดับกรดยูริค (uric acid) ในเลือดสูง ร่างกายได้รับกรดยูริคจากอาหาร และจากการสังเคราะห์ขึ้นในร่างกายโดยการสลายตัวของเซลล์ต่างๆ โดยจะมีอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของบริเวณที่มีการสะสมของกรดยูริค โดยเฉพาะบริเวณเนื้อเยื่อข้อต่อของกระดูก ทำให้ข้อกระดูกเสื่อม และกระดูกบริเวณนั้นผิดรูปได้ อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเกาต์จะต้องมีสัดส่วนของสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นแหล่งของกรดยูริค เช่น เครื่องในสัตว์ ถั่วต่างๆ ไข่ปลา ชะอม กะปิ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง สัตว์ปีก กุ้งชีแฮ้ หอย น้ำต้มกระดูก ซุปก้อน ปลาขนาดเล็ก เห็ด กระถิน ยีสต์ ปลาอินทรีย์ เป็นต้น ผู้ที่เป็นโรคเกาต์ควรกินอาหารที่มีไขมันน้อยลงเพื่อให้น้ำหนักลดลง ถ้ากินไขมันมากเกินไปจะทำให้ขับถ่ายกรดยูริคได้ไม่ดี แต่อย่างไรก็ดีไม่ควรได้รับอาหารที่มีพลังงานต่ำจนเกินไป เพราะร่างกายจะมีการสลายไขมันจากเนื้อเยื่อ ออกมาใช้ ทำให้มีปริมาณกรดยูริคสะสมเพิ่มขึ้นและขับถ่ายออกจากร่างกายลดลง น้ำตาลและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ควรงดเพราะมีผลต่อการขับถ่ายกรดยูริคด้วยเช่นกัน

ระวังอาหารห่างไกลโรคมะเร็ง
มะเร็ง (cancer) เป็นเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตผิดปกติ โดยจะขยายเซลล์ไปทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ด้วย พบว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากรโลกจากมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้น ได้แก่ มลพิษจากสภาพแวดล้อมและอาหาร ข้อมูลต่างๆ จากการศึกษาพบว่าพฤติกรรมการกินอาหารมีผลกับการเกิดโรคมะเร็งมาก เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งจึงควรปฏิบัติดังนี้

- จำกัดอาหารที่มีปริมาณโคเลสเตอรอลสูง เนื่องจากพบว่ามะเร็งในลำไส้ใหญ่มักเกิดในกลุ่มผู้ที่กินอาหารที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลสูงเป็นเวลานานๆ

- หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองหรือรมควันที่จะก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

- กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผักที่มีสารซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็ง ได้แก่ อินดอล (indole) อะโรมาติกไอโซไทโอไซยาเนต (aromatic isothiocyanate) ในดอกกะหล่ำม่วง บร็อคโคลี รวมทั้งผักและผลไม้ที่เป็นแหล่งของวิตามินซีและอี เช่น มะเขือเทศ ส้ม มะนาว จมูกข้าวสาลี ดอกคำฝอย ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่จะช่วยลดการทำลายของเนื้อเยื่อที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง

สำหรับแนวทางการจัดอาหารสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็ง คือ ให้มีสารอาหารครบสัดส่วนตามที่ร่างกายต้องการ โดยอาจจำเป็นต้องแบ่งอาหารออกเป็นหลายมื้อ ดัดแปลงอาหารให้น่ากิน รสชาติดี เนื่องจากความบกพร่องของระบบย่อยอาหารและปัญหาด้านจิตใจ ที่สำคัญควรเป็นอาหารที่ปรุงสุก
จะเห็นได้ว่าอาหารที่ดีนอกจากปรุงแต่งรสชาติได้อร่อยถูกใจแล้ว การเลือกสรรสารอาหารให้ได้สัดส่วนและเหมาะสมกับแต่ละคนยังเป็นการป้องกันโรคได้ หรืออย่างน้อยการระวังในการกินสักหน่อยก็ทำให้คนเราอยู่กับโรคต่างๆ ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ลำบากมากนัก ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับอาหารที่คุณกินในแต่ละมื้อเพื่อการมีสุขภาพที่ดี เพราะ You Are What You Eat… ก็ยังคงเป็นจริงเสมอ


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

อาหารต้านหวัด


บริโภคอาหารต้านหวัด2009


แพทย์แนะ 8วิธีง่ายๆ เลี่ยงไข้หวัด 2009 ระบุเพียงแค่ล้างมือบ่อยๆ - มีอาการไม่สบายต้องหลีกเลี่ยงแหล่งชุมชนทันที พร้อมแนะรับประทานอาหาร 8 ประเภทให้ผลในการช่วยเพิ่มภูมิต้านทานป้องกันหรือลดความรุนแรงของหวัดได้

การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด เอช1 เอ็น1 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนหลายพันล้านคนทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทยก็พบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนถึงขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 800 ราย

แม้การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่จะดูน่ากลัว แต่ก็มีวิธีง่ายๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงจากโรคนี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและคนชราซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ

แนะ 8 วิธีง่ายๆ ห่างไกล "ไข้หวัด 2009"
นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แนะเคล็ดลับง่ายๆ วิธีหลีกเลี่ยงไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า
วิธีแรก หากรู้ตัวเองว่ามีอาการไม่สบาย เป็นไข้ พักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอนควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปสู่ที่ชุมชนเช่น โรงเรียน ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ฯลฯ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายซึ่งช่วงดังกล่าวนี้ร่างกายจะอ่อนแอทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำโอกาสที่จะติดเชื้อจึงมีสูง
วิธีที่สอง เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแต่คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยใส่ใจ เพราะเห็นว่าไม่มีความสำคัญคือการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ โดยการใช้เจลนี้จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99%
วิธีที่สาม ไม่ควรคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้จะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยนั้นจะสามารถป้องกันการติดเชื้อหวัดได้ดีพอสมควร
วิธีที่สี่ ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
วิธีที่ห้า ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและมีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ผับ บาร์ฯลฯ เป็นเวลานานๆ โดยไม่จำเป็น
วิธีที่หก ปิดปาก และจมูก เมื่อไอหรือจามด้วยทิชชู และเลี่ยงการแตะปาก จมูก และตา ตลอดเวลา หากมีอาการไอหรือจามและเปื้อนมือ ให้รีบล้างทุกครั้ง
วิธีที่เจ็ด สำหรับบ้านใดที่เด็กและผู้สูงอายุควรจะดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และถ้าหากมีคนในบ้านป่วย ควรแยกผู้ป่วยออกไปให้ห่าง โดยเฉพาะช่วงวันแรกที่แสดงอาการ ซึ่งผ้าปิดปากจมูกช่วยได้มาก และถ้าหากเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือมีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
วิธีที่แปด ติดตามข่าวสาร คำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด
'แปดวิธีที่กล่าวมาในข้างต้นถือเป็นวิธีการง่ายๆ ที่คุณๆ หรือใครๆ ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งหากปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแล้วเชื่อว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่นี้ได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยเช่น มีอาการไอ มีน้ำมูก หรือมีไข้ต่ำๆ และรับประทานอาหารได้อาจไปพบแพทย์ที่คลินิกหรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลจึงไม่ควรวิตกกังวลมากนัก ที่สำคัญควรจะทำความเข้าใจกับโรคนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้คนรอบข้างและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ'

อาหาร 8 ชนิดสร้างภูมิสู้ 'หวัด'

นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำทั้ง 8 ข้อแล้ว รองอธิบดีกรมควบคุมโรคอธิบายต่อไปว่า การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกายก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะหากร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์แล้วจะสามารถทำให้เราผ่านการระบาดของโรคนี้ไปได้ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหาร 8 ชนิดดังต่อไปนี้ที่เชื่อว่าอาจให้ผลในการช่วยเพิ่มภูมิต้านทานป้องกันหรือลดความรุนแรงของหวัด ประกอบด้วย

1. อาหารรสเผ็ดรวมทั้งเครื่องเทศ เช่น กระเทียม พริก ลดอาการคัดจมูก ช่วยให้หายใจโล่งขึ้น
2. กระเทียม ช่วยลดอาการหวัด จะเติมลงในอาหารหรือเคี้ยวสดๆ วันละ 1 - 2 กลีบก็ได้
3. ดื่มน้ำมากๆ แทนที่จะดื่มกาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน อาจดื่มน้ำผลไม้คั้นสดบ้างเพื่อเสริมวิตามินซี เครื่องดื่มร้อนที่ช่วยได้ เช่น ชา น้ำมะนาวอุ่นๆ จะช่วยลดเสมหะได้
4. ซุปไก่ร้อนๆ ช่วยลดอาการคัดจมูก อาจเติมผักหลายๆ สี เพื่อเพิ่มสารแอนติออกซิแดนต์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี ซุปไก่ที่ผ่านกระบวนการตุ๋นเคี่ยวนานๆ จนโปรตีนย่อยสลายเป็นไดเปปไทด์ อาจช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ร่างกายสดชื่น และยังให้โปรตีนที่ดีต่อร่างกายด้วย
5. สารต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีน (วิตามินเอ) วิตามินซี วิตามินอี ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อ ผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น แครอท ผักใบเขียวจัด ส้ม ฝรั่ง องุ่น แคนตาลูป มะละกอสุก เป็นต้น
6. ผลไม้ตระกูลส้ม ซึ่งมีวิตามินซีสูง ช่วยลดความเสี่ยงการติดหวัดโดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรืออยู่ในแวดวงคนสูบบุหรี่ บุหรี่เองเพิ่มความเสี่ยงการเป็นหวัดและทำให้ร่างกายต้องการวิตามินซีสูงขึ้น
7. อาหารอื่นๆ ที่เป็นแหล่งวิตามินซี เช่น ฝรั่ง พริกหวาน สตรอเบอร์รี่ สับปะรด กะหล่ำปลี ล้วนแล้วแต่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน
8. ขิง ช่วยลดอาการหวัดและป้องกันหวัด น้ำขิงร้อนๆ ผสมกระเทียม 2 - 3 กลีบ ช่วยให้ระบบหายใจทำงานคล่องขึ้น

นพ.สมชัย นิจพานิช ย้ำอีกว่า วิธีง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งที่จะสามารถเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองได้ คือ การรับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามีนซีสูง เช่น กระหล่ำปลี กระหล่ำดอก ถั่วงอก มะนาว ส้มทุกชนิดโดยเฉพาะฝรั่ง แต่ต้องเป็นการรับประทานสดๆ เท่านั้น จึงจะได้วิตามินซี เพราะวิตามินซีสูญสลายง่าย เมื่อได้รับความร้อน ถ้าเป็นน้ำผลไม้ เมื่อคั้นแล้วก็ต้องทานให้หมดภายในครึ่งชั่วโมง ไม่เช่นนั้นวิตามินซีก็จะหายไปหมด ซึ่งประโยชน์ของวิตามินซีนอกจากเสริมภูมิคุ้มกันหวัดแล้ว ยังช่วยต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และชะลอการแก่ก่อนวัยได้อีกด้วย

นอกจากผักและผลไม้แล้วการรับประทานวิตามินซีที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไปก็สามารถทำได้เช่นกันแต่ต้องอ่านฉลากข้างกล่องให้ละเอียด เพราะในแต่ละวันร่างกายของคนเราต้องการวิตามินซีขั้นต่ำวันละ 100 - 150 มิลลิกรัม และบางคนอาจจะต้องรับ ประทานถึงวันละ 250 - 1000 มิลลิกรัม ซึ่งก็แล้วแต่สภาพของร่างกาย แต่ถ้ารับประทานวิตามินซีมากไป ก็อาจจะทำให้ท้องเดินได้

'โรคหวัดสายพันธุ์ไหม้แม้จะดูน่ากลัวเพราะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่หากเราดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง หมั่นสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายอย่างสม่ำเสมอแล้วก็จะไม่ติดไข้หวัดนี้อย่างแน่นอน' รองอธิบดีกรมควบคุม






















ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/9876